สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า


 สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าและเวชภัณฑ์สุนัขจรจัด วัดโพธิโสภาราม จ.ราชบุรี
29 มกราคม 2561  เวลา 11.00 น. สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) นำโดย นสพ.อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมฯ ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล รักษาการเลขาธิการสมาคมฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าและเวชภัณฑ์สุนัขจรจัด วัดโพธิโสภาราม จ.ราชบุรี  ซึ่งรับภาระในการเลี้ยงดูสุนัขจรจัดเกือบ 200 ตัว ในบริเวณวัดโสภาราม ต.คุ้งพยอม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ภายใต้การดูแลท่านพระครูเมตตานุศาสก์ เจ้าคณะตำบลคุ้งพยอมบ้านม่วง เจ้าอาวาสวัดโพธิโสภาราม ซึ่งปัญหาสุนัขจรจัดเหล่านี้เกิดจากการนำสัตว์มาปล่อยในบริเวณวัดที่มีมาอย่างต่อเนื่อง  
สมาคมฯ มีความห่วงใยในปัญหาดังกล่าว โดยช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้ได้ประสานความร่วมมือกับปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี โดยมี สพญ.วรรณี วัฒนพงศ์ชาติ ปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี เป็นผู้รับมอบวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์สำหรับฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า 150 ชุด วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า 150 ชุด ยาถ่ายพยาธิ เบนดราโซน 1,000 เม็ด ยาฆ่าเห็บหมัด เวิลแมก ชนิดแบบฉีด 100 ซีซี  5 ขวด อาหารสุนัขกระป๋อง 420 กระป๋อง เพื่อทางทีมสัตวแพทย์ จากปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี จะได้ดำเนินการฉีดวัคซีนและดูแลสัตว์ภายในวัดโพธิโสภารามให้มีสวัสดิภาพที่ดีต่อไป  สมาคมฯ มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในพื้นที่  พร้อมการให้ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าแก่ประชาชนการรณรงค์การหยุดทิ้งสัตว์ ซึ่งมีความผิดตามพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 23 ประกอบมาตรา 32 ต้องระวังโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งสมาคมเป็นผู้นำภาคประชาชนในการผลักดันพรบ.ดังกล่าว
นสพ.อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมฯ เปิดเผยว่า การปล่อย หรือการละทิ้งสัตว์นั้น มีแนวโน้มสูงขึ้นจากสถิติในปี พ.ศ. 2559 พบว่าจำนวนสุนัขและแมวที่ไม่มีเจ้าของทั้งประเทศมีมากกว่า 800,000 ตัว แต่การควบคุมประชากรด้วยวิธีทำหมันได้เพียงร้อยละ 10 ของจำนวนทั้งหมด นำมาสู่การร้องเรียนในปัญหาการสร้างความเดือดร้อนรำคาญเฉพาะสุนัขในกรุงเทพมหานครในปี 2558 กว่า 2,900 เรื่อง รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์สู่คน ปี2558 จำนวน 5 คนและในปี 2559 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 6 คน  สุนัขและแมวเป็นสัตว์ควบคุมตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 หากพบในที่สาธารณะ พนักงานเจ้าหน้าที่ (กรมปศุสัตว์) หรือพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจจับและกักขังเพื่อหาเจ้าของและให้เจ้าของมารับคืน และมีอำนาจในพิจารณาตามหลักวิชาการว่าสัตว์นั้นมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่  ถ้ามีก็ให้อำนาจในการทำลายสัตว์ควบคุมนั้นได้ ตามมาตรา 9 และมาตรา 15
นสพ.อลงกรณ์ฯ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ได้ดำเนินกิจกรรมสำคัญต่างๆ เช่น โครงการผลักดัน พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โครงการบ้านอุปถัมภ์  สัตว์จรจัดกว่า 6,000 ชีวิตจากบ้านอุปถัมภ์ 26 แห่งทั่วภูมิภาคของประเทศ ที่สมาคมฯ ดูแลทั้งด้านอาหาร ยารักษาโรค เพื่อให้สัตว์จรจัด มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  โครงการรักสัตว์ในโรงเรียน ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการปลูกฝังให้เยาวชนมีความรักและเมตตาต่อสัตว์  จึงได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการจัดทำหนังสือเสริมประสบการณ์เกี่ยวกับการส่งเสริมสวัสดิภาพและป้องกันการทารุณสัตว์ โดยจัดพิมพ์และมอบให้กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศกว่า 30,000 แห่ง  โครงการพัฒนาเครือข่าย จากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศกว่า 100 องค์กร ในการช่วยสอดส่องดูแลและช่วยลดปัญหาการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น 
ปีนี้ สมาคมฯ จะครบรอบ 24 ปี ในการดำเนินงานพร้อมขับเคลื่อนเพื่อป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์อย่างยั่งยืนโดยกำหนดจัดโครงการที่สำคัญ เช่น การเปิดตัวภาพยนตร์สั้น รักไม่ปล่อยรณรงค์ให้เลี้ยงสัตว์โดยรับผิดชอบ ปลุกจิตสำนึก กระตุ้นเตือนคนในสังคมให้เกิดความรักต่อสัตว์อย่างแท้จริง รักแล้วไม่ทอดทิ้ง ไม่นำมาปล่อยและสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับสังคม  โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะการตามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถจะยุติปัญหาสัตว์จรจัดลงได้ นอกจากนี้จะจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่องโดยเผยแพร่สื่อภาพยนตร์สั้น ปล่อยนก บุญหรือบาป?” ให้เกิดค่านิยมทำบุญไม่ทารุณสัตว์ และยุติการจับนกเพื่อมาปล่อย กิจกรรมลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ กิจกรรมเครือข่ายจิตอาสาสวัสดิภาพสัตว์ กิจกรรมรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เนื้อหาและวิธีใช้พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์ฯ กิจกรรมในด้านอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูวาฬและโลมา เป็นต้น 
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล รักษาการเลขาธิการสมาคมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า  สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์นั้น สมาคมฯ ดำเนินการโดย สันติวิธีผ่านกระบวนการการรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้องกันการทารุณและการจัดสวัสดิภาพสัตว์  รวมถึงการปลูกจิตสำนึกทางสังคม ให้การศึกษาผ่านการเรียนการสอน และที่สำคัญ จะใช้ กระบวนการยุติธรรมในแก้ปัญหา เพื่อให้เกิด ความเป็นธรรมในสังคมต่อไป
พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาตรา 23 กำหนดห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์นั้นพ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร และมาตรา 22 เจ้าของสัตว์ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ของตนให้เหมาะสม ถ้าไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 หรือฝ่าฝืนมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท ตามมาตรา 32
ถ้าผู้ควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพังในประการที่อาจจะทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ป.อาญา มาตรา 377 เช่นกัน ดร.สาธิต กล่าว




















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น